เอสซีจี เปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ“สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา”ต่อยอดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนสู่การส่งมอบองค์ความรู้แก่สังคม
เอสซีจี เปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ “สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา”
ต่อยอดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน สู่การส่งมอบองค์ความรู้แก่สังคม
ระยอง : 18 มิถุนายน 2559 – เอสซีจี เปิดตัว “สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” จ.ระยอง ถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำจากกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ภายใต้โครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน สู่ “แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” เพื่อสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแก่ผู้มาเยือน พร้อมส่งมอบองค์ความรู้เป็นแบบอย่างให้แก่สังคม
นายอาสา สารสิน ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวในการเปิด “สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” อ.เมือง จ.ระยอง ว่า เอสซีจี เล็งเห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่ง ของการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำขาด น้ำเกิน จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” สนับสนุนชุมชนสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อคืนความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าต้นน้ำ ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสั่งสมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ พร้อมสร้างความร่วมมือของชุมชนจนมีศักยภาพที่จะเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ
“ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ชุมชนเขายายดาได้ร่วมโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” เห็นผลชัดเจนว่า ฝายชะลอน้ำช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับเขายายดาได้อย่างมาก ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ดูแลสวนผลไม้ซึ่งเป็นอาชีพหลักอย่างทั่วถึง เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น นอกจากนี้ ชุมชนยังตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาป่าและแหล่งน้ำของบ้านเกิด ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้และมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับเยาวชนและผู้สนใจให้เข้ามาเรียนรู้ระบบนิเวศและวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ของชุมชนรอบเขายายดา อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน” นายอาสา กล่าว
ด้าน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวในฐานะเจ้าบ้านว่า จังหวัดระยอง เป็น 1 ใน 11 จังหวัดนำร่องที่รัฐบาลกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายในปี 2561 ดังนั้น การที่เอสซีจีเข้ามาร่วมทำโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ร่วมกับชุมชนเขายายดา จนทำให้พื้นที่แห่งนี้พลิกฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ จนสามารถยกระดับให้เป็น “สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ของจังหวัดระยองในวันนี้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ช่วยส่งเสริมเป้าหมายดังกล่าวของจังหวัดได้เป็นอย่างดี
“ผมขอชื่นชมพี่น้องชุมชนรอบเขายายดาที่ร่วมมือร่วมใจกันเปิดศูนย์เรียนรู้ “สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของจังหวัดระยอง เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน และภาพรวมของจังหวัด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้จากชุมชนแห่งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนและท้องถิ่นอื่นๆ จนประสบผลสำเร็จ และหวังว่าที่นี่จะเป็นจุดหมายปลายทางแรกๆ ที่นึกถึงในใจของนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจังหวัดระยองด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งผู้บริหารและพนักงานเอสซีจี ครูและนักเรียนพร้อมกับพี่น้องในชุมชนเขายายดา ชุมชนมาบตาพุด และข้าราชการใน จ.ระยอง รวมทั้งชุมชนกัลยาณมิตรเครือข่ายโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” จาก จ.ลำปาง สระบุรี และกาญจนบุรี ได้มาสัมผัส “สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” อีกหนึ่งผลผลิตที่ ต่อยอดจากโครงการสร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเราในวันนี้ และเรายังหวังให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่อไปอย่างยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือรูปแบบต่างๆ ร่วมกัน
“ที่ผ่านมา พนักงานเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำกับชุมชนเขายายดาด้วยทุกครั้ง จนชุมชนเริ่มเห็นผลที่ดีขึ้น จึงได้ร่วมกันดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีกว่า 5,400 ฝาย กระทั่งในวันนี้ที่ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข ซึ่งไม่เพียงแต่เอสซีจีจะมุ่งหวังให้องค์ความรู้ต่างๆ ขยายไปสู่ชุมชนอื่นๆ เท่านั้น หากแต่ยังมีความร่วมมือในการเข้าไปพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับใช้ในโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่เขายายดา เพื่อเสริมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบนิเวศเขายายดาให้แก่เยาวชน รวมทั้งต่อยอดไปสู่การทำงานวิจัยโดยชุมชน เพื่อชุมชน และการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การสร้างความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป” นายชลณัฐ กล่าว
ด้าน นางบุญชื่น โพธิ์แก้ว เจ้าของสวนยายดา (เจ๊บุญชื่น) จ.ระยอง กล่าวว่า สถานีสวนเกษตรผสมผสาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” เกิดขึ้นได้จากการสร้างฝายชะลอน้ำที่ชาวชุมชนได้เรียนรู้จากเอสซีจี ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำที่เคยเกิดขึ้นกับชุมชน วันนี้นอกจาก “สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา”จะเป็นช่องทางให้เกิดการสร้างรายได้ใหม่ๆ ในชุมชนแล้ว ยังช่วยให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรภายในชุมชน ทำให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชนอื่น และนำมาพัฒนาถ่ายทอดความรู้ภายในชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการดูงาน การทำวิจัย การท่องเที่ยวสวนผลไม้ และสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน
“เมื่อมีฝาย เราก็มีน้ำ เมื่อมีน้ำ เราก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลผลิตทางการเกษตร สวนผลไม้ก็มีน้ำมาใช้ทำให้อุดมสมบูรณ์ แต่เราเชื่อว่าการจะมีความสุขอย่างยั่งยืนได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกัน จนทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นโฮมสเตย์ ทำให้คนมาท่องเที่ยวมากขึ้น คนในชุมชนก็มีความสุข จึงอยากส่งมอบความรู้เหล่านี้ให้กับชุมชนอื่นๆ ซึ่งพี่น้องในชุมชนของเราทุกคนก็พร้อมต้อนรับ ผู้มาเยือนทุกคนด้วยความเต็มใจ” นางบุญชื่น กล่าวปิดท้าย
“สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา” จ.ระยอง แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเอสซีจีและชุมชนรอบเขายายดา ประกอบด้วยสถานีย่อยต่างๆ 8 สถานี ได้แก่
- สถานี “ห้องเรียนต้นน้ำ” เส้นทางศึกษาธรรมชาติสุดท้าทายและได้ความรู้ ภายในสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
- สถานี “ฝายชะลอน้ำกู้วิกฤติ” เรียนรู้การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่า
- สถานี “สวนเกษตรผสมผสาน” เยี่ยมชมสวนเกษตรของชาวบ้าน ทั้งพืชผักผลไม้ ที่ผสมผสานแนวคิด “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เหลือแล้วจึงนำไปขาย” โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- สถานี “บ้านอบอุ่นที่เขายายดา” แวะพักค้างคืนที่โฮมสเตย์เพื่อเรียนรู้วิถีชุมชนที่อบอุ่นและ เป็นกันเอง พร้อมสัมผัสกับธรรมชาติท่ามกลางเขายายดาที่นับได้ชื่อว่าเป็นปอดของจังหวัดระยอง
- สถานี “เส้นทางปั่น…กินลมชมธรรมชาติ” เพลิดเพลินและออกกำลังกายไปกับเส้นทางจักรยานปั่นชมธรรมชาติรอบเขายายดา
- สถานี “นักคิด นักวิจัยชุมชน” ศึกษาเรียนรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเรื่อง “การจัดการทรัพยากรน้ำในสวนผลไม้” ที่เกิดขึ้นจากองค์ความรู้ของพี่น้องในชุมชน
- สถานี “รู้คิด ร่วมทำเพื่อชุมชนสีเขียว” ศึกษาต้นแบบกองทุนเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมให้สมาชิกของชุมชนใช้สำหรับดูแลฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
- สถานี “ตำราจากธรรมชาติ” ศึกษาการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่เขายายดา เพื่อเสริมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน/บก.ธรรญธร รวมพลัง