Get Adobe Flash player

อีสท์ วอเตอร์ เตรียมแผนสำรองน้ำช่วงฤดูฝนแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อรองรับ EEC

อีสท์ วอเตอร์ เตรียมแผนสำรองน้ำช่วงฤดูฝนแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อรองรับ EEC

 อีสท์ วอเตอร์ เตรียมแผนสำรองน้ำช่วงฤดูฝนแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อรองรับ EEC

อีสท์ วอเตอร์ เตรียมทำแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อสำรองน้ำในช่วงฤดูฝน เน้นการเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำ ขยายอ่างเก็บน้ำและเพิ่มพื้นที่ความจุให้มากขึ้น พร้อมเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมด้านเทคโนโลยีและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่ EEC

            บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการน้ำรวมสำหรับอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมของพื้นที่ภาคตะวันออกที่เกี่ยวข้องกับ EEC มีประมาณ 325 ล้าน ลบ.ม. และมีแหล่งน้ำต้นทุนเท่ากับ 427 ล้าน ลบ.ม. จากคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC  จะมีความต้องการใช้น้ำในปี 2579 ซึ่งจะมีความต้องการน้ำเพิ่มถึง 675 ล้าน ลบ.ม. อีสท์ วอเตอร์ จึงได้จัดเตรียมแผนรองรับการขยายอ่างเพื่อเก็บน้ำสำรองในช่วงฤดูฝน  โดยการเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ด้วยระบบท่อส่งน้ำ ตลอดจนการจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อนำมาผลิตน้ำครบวงจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ซึ่งในปี 2563 มีสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศรวมทั้งภาคตะวันออก อีสท์ วอเตอร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การประปาส่วนภูมิภาค และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สำหรับแผนระยะสั้น อีสท์ วอเตอร์มีแผนซื้อน้ำจากแหล่งน้ำเอกชนมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพการจำหน่ายน้ำในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ เช่น ชลบุรี และฉะเชิงเทรา รวมถึงได้มีมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เช่น สูบนํ้ากลับจากคลองสะพาน ผันนํ้าจากคลองวังโตนด ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อเพิ่มปริมาณนํ้าต้นทุนที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ การผันนํ้าจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่  การสูบนํ้ากลับจากสถานีสูบนํ้าวัดละหารไร่ ไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล การปรับปรุงสถานีสูบนํ้าเชิงเทรา ให้ปริมาณสูบนํ้ารวมเพิ่มเป็นวันละ 300,000 ลบ.ม. จากเดิมวันละ 200,000 ลบ.ม.

สำหรับมาตรการระยะยาว ได้แก่ การก่อสร้างสระเก็บน้ำดิบทับมาแหล่งกักเก็บน้ำของอีสท์ วอเตอร์ การก่อสร้างระบบสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง-รัชชโรทร เพื่อเป็นการลดระยะการสูบส่งน้ำ (แผนการลงทุนโครงการคลองหลวง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกที่ปัจจุบันยังไม่ได้เชื่อมต่อเข้าระบบท่อของอีสท์ วอเตอร์ เมื่อเชื่อมต่อแล้ว (คาดการณ์แล้วเสร็จปี 2564 จะสามารถเพิ่ม supply (ปริมาณ 40 ล้าน ลบม.) รองรับ EEC ได้อีก 5-10 ปีข้างหน้า)

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำของภาคเอกชน ในการหาแหล่งน้ำทางเลือก ลดการพึ่งพิงน้ำแหล่งธรรมชาติ  กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มอบหมายให้อีสท์ วอเตอร์  ร่วมกับภาครัฐ และกลุ่มบมจ.ปตท. ศึกษาการสร้าง Plant RO ร่วมกันในรูปแบบ PPP โดยเบื้องต้นอยู่ในระหว่างการศึกษา ซึ่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานทางเทคนิคการพัฒนาโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีรองเลขาธิการ สทนช. เป็นประธานคณะทำงาน และรองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ เป็นรองประธานคณะทำงาน และมีคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)  หรืออีสท์ วอเตอร์

คณะทำงานฯ ภารกิจหลักในการพิจารณา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สัดส่วนการใช้น้ำ การกำหนดราคาค่าน้ำ เพื่อกำหนดประเภทของเทคโนโลยี พื้นที่นำร่อง และปริมาณการผลิตน้ำต่อวัน ที่เหมาะสมของโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  ในส่วนของอีสท์ วอเตอร์ รับหน้าที่ในการพิจารณาศึกษาความเหมาะสมเรื่องวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยี และผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ เพื่อนำเสนอ ต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ และ กนช. ตามลำดับต่อไป 

สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อีสท์ วอเตอร์ มีมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชน เพื่อสนับสนุนมาตรการของภาครัฐที่จะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการร่วมสนับสนุนผ่านการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ไปยังประชาชนผู้ใช้นํ้าของ กปภ. เช่น การลดอัตราค่านํ้าประปา และการคืนเงินประกันการใช้นํ้าประปา เป็นต้น

อีสท์ วอเตอร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำครบวงจร เน้นย้ำถึงการสนับสนุนความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และรองรับการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของโครงการพัฒนาพื้นที่ EEC   ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่งความมั่นคงด้านของประเทศ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและมีน้ำเพียงพอเพื่ออนาคตข้างหน้าอย่างแท้จริง

รายงานข่าว/ธรรญธร เพ็งขุนทด

 

 

 

 

 

 

 

 

หนังสือพิมพ์ รวมพลัง
ผู้สนับสนุน

กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม
RPTV ข่าวสารเข้มข้น เพื่อคนตะวันออก
Blog Stats
  • 27,743 hits
Blog Stats
  • 27,743 hits